วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

อินดิเคเตอร์บอก Trend และแนวรับแนวต้านขั้นเทพ Ichimoku Kinko Hyo


อินดิเคเตอร์บอก Trend และแนวรับแนวต้านขั้นเทพ Ichimoku Kinko Hyo

เคยมั๊ยครับ ที่เวลาคุณเทรดหุ้นด้วย MT4 แล้วคุณก็ทดลองเปิดอินดิเคเตอร์ไปเรื่อยๆ ดูว่าตัวไหนเป็นอย่างไร ตัวไหนน่าใช้บ้าง ปรากฏว่า คุณดันไปเจออินดิเคเตอร์ตัวหนึ่ง มีเส้นอะไรก็ไม่รู้ยั้วเยี้ยไปหมด ดูไม่รู้เรื่องเลย ถึงแม้ว่าจะพยายามทำความเข้าใจกับมัน โดยนั่งมองดูมันไปเรื่อยๆ สุดท้ายคุณก็ปิดมันไป โดยที่คิดไว้ในใจว่า “อินดิเคเตอร์อะไรวะดูไม่เห็นจะรู้เรื่องเลยวุ้ย -3- ” แต่ผมจะบอกคุณว่า อินดิเคเตอร์ที่มีหน้าตาไม่ค่อยรับแขกตัวนี้ มีอะไรดีๆ ที่ผมจะพาทุกท่านไปล้วงความลับของอินดิเคเตอร์ตัวนี้ ที่ทำให้คุณได้อึ้ง ทึ่ง และเขียว ไปพร้อมกันครับ ขอเชิญพบกับแขกรับเชิญของเราในวันนี้ได้เลยครับ Ichimoku Kinko Hyo

วิธีการใส่อินดิเคตอร์ตัวนี้ลงไปในกราฟของ MT4 ก็ง่ายๆ ครับ คลิ๊กเพิ่ม อินดิเคเตอร์ เลือก Oscillators > Ichimoku Kinko Hyo
สำหรับการตั้งค่านั้น ในตัวอย่างของผมจะตั้ง Tenkan-sen : 7 , Kijun-sen: 22 , Senkou Span B: 44 จากนั้นเมื่อใส่อินดิเคเตอร์ลงในกราฟแล้ว คุณจะเห็นว่า จะมีเส้นอยู่ 5 เส้น คือ
1. Tenkan-sen 2. Kijun-sen 3. Chinkou Span 4. Senkou Span A 5. Senkou Span B

ผมจะอธิบายวิธีการวิเคราะห์ของแต่ละเส้นก่อน โดยจะมีรูปตัวอย่างให้ดูด้วย จากนั้นค่อยวิเคราะห์รวมทั้ง 5 เส้นกัน

1. Tenkan-sen



เส้นนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆ เส้น Fast MA คือเส้น Moving average ที่มี Period น้อย ในหลักการ MA Cross
หลักการวิเคราะห์
เมื่อราคาอยู่ต่ำกว่าเส้น Tenkan-sen และ Tenkan-sen มีความชันเป็นลบ แสดงถึงสภาวะตลาดหมี และเมื่อราคาอยู่สูงกว่าเส้น Tenkan-sen และ Tenkan-sen มีความชันเป็นบวก แสดงถึงสภาวะตลาดกระทิง

2. Kijun-sen




เส้นนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆ เส้น Slow MA คือเส้น Moving average ที่มี Period มากกว่า ในหลักการ MA Cross
หลักการวิเคราะห์
เช่นเดียวกับเส้น Tenkan-sen เมื่อราคาอยู่ต่ำกว่าเส้น Kijun-sen และ Kijun-sen มีความชันเป็นลบ แสดงถึงสภาวะตลาดหมี และเมื่อราคาอยู่สูงกว่าเส้น Kijun-sen และ Kijun-sen มีความชันเป็นบวก แสดงถึงสภาวะตลาดกระทิง และในส่วนของเส้น Kijun-sen ที่มีความชันเป็นศูนย์ หรือช่วงที่เส้นขนานกับแนวนอน ในช่วงใดๆ สามารถนำราคาช่วงนั้นมาเป็นแนวรับหรือแนวต้านได้ ยิ่งช่วงที่เส้น Kijun-sen ที่มีความชันเป็นศูนย์ มีความยาวมากเท่าไหร่ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแนวรับหรือแนวต้าน ตรงช่วงราคานั้นมากเท่านั้น

เมื่อนำ Tenkan-sen และ Kijun-sen มาอยู่ด้วยกัน




ลักษณะของมันก็จะคล้ายๆ กับใช้ MA สองเส้นเลยทีเดียว จะสังเกตเห็นว่า ราคาจะชนเส้น Kijun-sen ที่มีความชันเป็นศูนย์บ่อยๆ แสดงให้เห็นว่า เส้น Kijun-sen สามารถใช้เป็นแนวรับหรือแนวต้านได้ และเมื่อราคาอยู่ในช่วงระหว่างเส้น Tenkan-sen และ Kijun-sen จะเห็นว่าสภาพตลาดมีลักษณะไซด์เวย์

3. Chinkou Span




สำหรับเส้น Chinkou Span นี้ไม่มีอะไรมากเป็นเพียงเส้น MA 1 ของราคาปัจจุบันที่ถูก shift ไปอยู่ในอดีต เพื่อศึกษาอดีตมาพยากรณ์ปัจจุบัน

หลักการวิเคราะห์
จากรูปจะเห็นว่าเมื่อเส้น Chinkou Span ตัดกราฟราคาในอดีตขึ้น สะภาพตลาดจะอยู่ในตลาดกระทิง ในทางกลับกัน ถ้าเกิด Chinkou Span ตัดกราฟราคาในอดีตลง สะภาพตลาดจะอยู่ในตลาดหมี

4. Senkou Span A + 5. Senkou Span B




สำหรับสองเส้นนี้เราจะใช้คู่กันไป จากที่เห็นในช่วงที่เป็นสีระหว่างทั้งสองเส้นนั้น เราจะเรียกมันว่าเมฆ เจ้าเมฆนี่จะยื่นออกไปข้างหน้าในอนาคตที่ยังไม่เกิด เพื่อทำนายสะภาพตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

หลักการวิเคราะห์
เมื่อราคาอยู่เหนือเมฆหมายถึงสะภาพตลาดกระทิง เมื่อราคาอยู่ใต้เมฆหมายถึงสะภาพตลาดหมี และเมื่อราคาอยู่ในเมฆหมายถึงสะภาพตลาดไซด์เวย์ และเราสามารถใช้ เมฆเส้น Senkou Span B ที่มีความชันเป็นศูนย์คือเป็นเส้นตรงในแนวราบ แทนแนวรับแนวต้านได้เช่นเดียวกับ Kijun-sen แต่จะมีนัยสำคัญน้อยกว่าเส้น Kijun-sen
เช่นเดียวกับเส้น Kijun-sen ยิ่งมีความยาวของเส้นในแนวราบมากเท่าไหร่ ความแข็งแกร่งของแนวรับแนวต้านช่วงราคานั้นยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จากรูปเมื่อเมฆมีการบีบตัวให้แคบลง เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า เทรนปัจจุบันกำลังจะเปลี่ยนแล้ว

เมื่อรู้จักทุกส่วนของ Ichimoku Kinko Hyo กันแล้ว จากนี้ผมจะนำทุกส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน และจากนั้นเราจะมาดูวิธีการเข้าทำกำไรกันครับ




หลักการเขาทำกำไร (วิธีที่ผมใช้)
-เปิด Long Position เมื่อ
ราคาเปิดเหนือเส้น Kijun-sen และเส้น Chinkou Span อยู่เหนือกว่าราคาในอดีต 22 ช่วงจากปัจจุบัน และถ้าเข้าเมื่อราคาปิดเหนือ Kijun-sen ไม่ทัน คุณสามารถ เปิดได้อีกครั้งเมื่อ ราคาเปิดเหนือเส้น Senkou Span B (เมฆ) และเส้น Chinkou Span อยู่เหนือกว่าราคาในอดีต 22 ช่วงจากปัจจุบัน
-เปิด Short Position เมื่อ
ราคาเปิดใต้เส้น Kijun-sen และเส้น Chinkou Span อยู่ใต้ราคาในอดีต 22 ช่วงจากปัจจุบัน และถ้าเข้าเมื่อราคาเปิดใต้ Kijun-sen ไม่ทัน คุณสามารถ เปิดได้อีกครั้งเมื่อ ราคาเปิดใต้เส้น Senkou Span B (เมฆ) และเส้น Chinkou Span อยู่ใต้ราคาในอดีต 22 ช่วงจากปัจจุบัน

สำหรับการตั้ง TP และ SL นั้น เราสามารถใช้แนวรับแนวต้านต่างๆ ที่เส้น Kijun-sen และเส้น Senkou Span B ทำเอาไว้เป็นTP ได้ ส่วน SL นั้นเราต้องตั้ง ให้อยู่เลยแนวรับแนวต้านไปซัก 5-8 จุด เพื่อป้องกันการง้างธนู (ย้อนกลับมาเด้งแนวรับแนวต้านอีกที เพื่อเอาแรงก่อนจะพุ่งด้วยแรงมหาศาล) เพราะว่าชื่อก็บอกว่าแนวรับแนวต้าน ยังไงราคามันก็ต้องมาชนอยู่ดี

เอาล่ะเรามาดูว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากภาพที่ 1 ดีกว่า



จะเห็นว่าเข้าเงื่อนไขการเปิด Long Position ณ จุดที่ผมวงกลมไว้ และ TP กับ SL จะอยู่ ในส่วนที่ผมขีดเส้นไว้ จะเห็นว่าส่วนนั้นเป็นส่วนที่ สองเส้นสำคัญ Kijun-sen และเส้น Senkou Span B ได้มีการสร้างแนวรับแนวต้านเอาไว้ จากระยะครั้งนี้ ถ้าเข้าซื้อคุณสามารถทำกำไรได้ 20 จุด

หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์กับหลายๆ คนนะครับ และต้องขอขอบคุณ kharvell หรือ Kevin แห่ง Forexfactory ที่บทความของเขาเรื่องวิธีใช้ Ichimoku Kinko Hyo นั้นทำให้ผมเขาใจอินดิเคเตอร์ตัวนี้ได้มากขึ้น ต้องบอกว่าถ้าคุณอ่านบทความของเขาได้ จะดีกว่าอ่านบทความนี้ที่ผมเขียนซะอีก เพราะเขาอธิบายละเอียดมาก มีอีกหลายเรื่องที่ผมไม่ได้เขียนไว้ เนื่องจากมันเยอะมากผมจึงอธิบายแค่คล่าวๆ ยังไงซะ แค่นี้ก็อาจจะทำให้หลายๆ คนพอจะเข้าใจอินดิเคเตอร์ตัวนี้ขึ้นมาบ้างล่ะ และขอให้รู้ตัวไว้เลยนะว่า ตอนนี้คุณเทพแล้ว เพราะว่าคุณสามารถเข้าใจอินดิเคเตอร์ขั้นเทพตัวนี้ได้

บทความที่ได้รับความนิยม